ยินดีตอนรับเข้าสู่ Web blog ของ ปาริฉัตร ธรรมดา (ฝน) ค.บ.4 คณิตศาสตร์ หมู่ 2 ในรายวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู PC 9203
...สวัสดีค่ะท่านผู้ชม webblog ทุกท่าน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blogger ผู้จัดทำหวังว่าผู้ที่ชม webblog ทุกท่านจะได้นำความรู้ที่มีใน webblog นี้ไปใช้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย webblog นี้เป็นส่วนหนึงของรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู จัดทำโดย นางสาวปาริฉัตร ธรรมดา คบ.4 คณิตศาสตร์ หมู่ 2 ขอให้มีความสุขกับการชม webblog นะค่ะ....^_^

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556


การบูรณาการกับความซื่อสัตย์

       ความซื่อสัตย์ บ้างก็ว่า ความสัตย์ หรือ ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึงแง่มุมหนึ่งของศีลธรรม แสดงถึงลักษณะของคุณธรรมในแง่บวกอาทิ บูรณภาพ ความจริงใจ และความตรงไปตรงมา พร้อมด้วยการงดเว้นการโกหก การคดโกง หรือการลักขโมย เพราะหากไม่งดเว้น ก็จะกลายเป็นการเสแสร้งแกล้งทำเพียงเท่านั้น
       ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง

      มีเรื่องให้อิ่มใจในสัปดาห์แรกของการเปิดเรียน  ตอนเย็นวันศุกร์ ขณะที่กำลังจะปิดประตูห้องเรียน  ได้ยินเสียงเรียก "คุณครูครับ ๆ" มาแต่ไกล  เห็นเด็กชาย ๒ คน วิ่งหน้าตั้งมาหาครู   พอมาถึงก็ยื่นเงินเหรียญ  ๑๐  บาท ให้พร้อมกับบอกว่า  "ผมเก็บเงินได้ที่ข้างถนนด้านนอกโรงเรียนครับ"

     ครูซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และกล่าวชมเชยชื่นชมในคุณความดีครั้งนี้พร้อมกับให้พร  เพื่อเป็นกำลังใจและให้ความมั่นใจในการทำดีต่อๆ ไป 

       วันนั้นครูเดินยิ้มออกจากโรงเรียนด้วยความสุขใจ  นึกถึงเด็กชายที่เก็บเงินได้  ถ้าเก็บเอาไปใช้เองก็ไม่มีใครรู้     บอกเพื่อนแล้ว ทั้งสองแบ่งกันคนละ ๕ บาท ก็ย่อมได้  แต่เด็กทั้งสองไม่คิดเช่นนั้น    คิดว่าเงินไม่ใช่ของเขา  ครั้นจะถามหาเจ้าของก็ไม่ได้ จึงนำมาให้ครู   นั่นก็แสดงถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ  สะท้อนถึงสภาพ  ครอบครัวที่อบอุ่น  มั่นคง มีจริยธรรม และการอบรมบ่มเพาะ    ของพ่อแม่ ครูอาจารย์  ทีสำคัญคือจิตใจใฝ่ดีของเด็กเอง    ที่มุ่งมั่นพัฒนาให้คุณธรรมเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจดวงน้อย ครูเชื่อว่า เติบใหญ่ภายหน้าย่อมเป็นคนดีอย่างแน่นอน

   จาก "คำพ่อสอน" ว่า

 " ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง   เด็กๆจึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง   เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด  ที่เจริญมั่นคง..."

             (พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก พ.ศ.๒๕๓๑ )

  "...รากฐานที่นับว่าสำคัญ คือ รากฐานทางจิตใจ  อันได้แก่  ความหนักแน่น  มั่นคงในสุจริตธรรมอย่างหนึ่ง  ในความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง "

             การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทำลายสังคมอย่างรุนแรงและฝังรากลึก เป็นปัญหาที่สะท้อนวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้น คนในสังคมต้องมีค่านิยมในการรักความดีและรู้สึกไม่ยอมรับพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันและการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องนี้จะเป็นรากฐานสำคัญเพื่อทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ได้ผลที่สุด

               ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  ครูก็หวังให้ลูกศิษย์ทุกคนมีคุณธรรมข้อนี้ เป็นคนดีของสังคม   ของประเทศชาติ .......  

     'ความซื่อสัตย์' จิตสำนึกที่ต้องเร่งปลูกฝังแก่เด็กไทย

         มีหลายคนมักจะมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งใหม่ที่ดี โดยเริ่มต้นจากปีใหม่ บางคนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น บางคนวาดฝันหวังที่จะเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่ชีวิตใหม่ที่สวยงามประสบความสำเร็จมีอนาคตที่งดงาม มีจำนวนไม่น้อยที่จัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างมีความสุขสนุกสนาน ต่างมอบคำอวยพรส่งความสุขความปรารถนาดีให้แก่กันและกัน
       “ความซื่อสัตย์” เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคนไทยในยุคปัจจุบัน เพราะถ้าดูจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “คุณธรรมกับเยาวชนไทยในอนาคต” เมื่อเดือนกันยายน 2555 พบว่า คุณธรรมพื้นฐานที่เยาวชนควรได้รับการปลูกฝังมากที่สุดอันดับแรก คือ “ความซื่อสัตย์” ส่วนการมีวินัย ความสามัคคี การมีน้ำใจ ความขยัน ความสุภาพ ความประหยัด และความสะอาด รองลงมาตามลำดับ ส่วนสิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อเยาวชนไทยในอนาคต คือ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ มีความกตัญญูกตเวที รวมทั้งมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง และเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต     แต่จากสภาพปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความซื่อสัตย์ของคนไทยค่อนข้างน้อย ดังที่ปรากฏในผลการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” พบว่า “การทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง” เป็นปัญหาอันดับแรกในแวดวงการเมืองไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน    ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ ’ความซื่อสัตย์สุจริต“ ของ ’คนไทย“ ลดน้อยลง คือ ความเห็นแก่ตัว ความละโมบ กิเลสตัณหาที่มีมากขึ้น ขาดการปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ขาดแบบอย่างที่ดี สังคมเปลี่ยนแปลง มีเทคโนโลยี สิ่งยั่วยุ วัตถุนิยมมากขึ้น
        ณ วันนี้ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ความซื่อสัตย์” เป็นความคาดหวังสำคัญที่ทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย อย่างไรก็ตาม ในการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้น โดยครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ต้องช่วยกันดูแลสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกด้วยการแนะนำ สั่งสอน และที่สำคัญคือต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในบุคคลในครอบครัว
        ด้านโรงเรียนและสถาบันการศึกษา มีหน้าที่ให้การศึกษาอบรม บ่มนิสัย การสร้างนิสัยความซื่อสัตย์สุจริตจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้การเอาใจใส่ดูแลไม่น้อยกว่าการทำให้ผู้เรียนมีความรู้และมีลักษณะที่พึงประสงค์อื่นๆ ทุกกิจกรรมที่จัดจะต้องเน้นการส่งเสริมให้เกิดความซื่อสัตย์สุจริต
ส่วนสถาบันทุกภาคส่วนในสังคม มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริต เช่น องค์กรทางศาสนามีส่วนช่วยในการอบรม สร้างความเชื่อ ความศรัทธาให้เกิดขึ้น สื่อมวลชนมีส่วนในการกระตุ้น ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก จิตสำนึกในความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น เพื่อสร้างค่านิยมและทัศนคติในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และให้ทุกคนได้ดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต
        เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข เด็ก เยาวชน คนไทยมีความซื่อสัตย์ รักความยุติธรรม ดังนั้นเราจงมาเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยการร่วมกันบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในอนาคต และฝากความหวัง  ในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวไกลและมั่นคงสืบไป.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น